ปี 2550 เป็นปีที่มนุษย์ครึ่งหนึ่งของโลกใช้ชีวิตในเมือง ตัวเลขประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเมืองจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 68 เมื่อถึงราวๆ ปี 2600 กระบวนการกลายเป็นเมืองหรือ Urbanization จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ ตั้งแต่วิถีชีวิต ชุมชน วัฒนธรรม เศรษฐกิจ หรือการเมือง การพัฒนาเมืองให้ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองก็เลยเป็นประเด็นสำคัญทบทวีขึ้นตามกาลเวลา
‘เมืองพอดี’ คือแนวคิดการพัฒนาเมืองที่ผมรู้สึกสะดุดคำตั้งแต่ครั้งแรกที่เห็นหนังสือเล่มนี้ในร้านหนังสือ ‘เมืองพอดี แนวคิดเพื่อเมืองเอาใจใส่’ หรือ ‘LIVABLE PROXIMITY Ideas for the City that Cares’ เขียนโดยเอซิโอ มานซินี่ (Ezio Manzini) บอกเราว่า เมืองพอดีคืออะไร เราจะสร้างมันคือมาได้อย่างไร พร้อมกับยกตัวอย่างเมืองที่นำแนวคิดเมืองพอดีไปใช้พัฒนาซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป
คำว่า พอดีในที่นี้ คือความพอดีทั้งในแง่ประโยชน์ใช้สอยและในแง่ความสัมพันธ์ ฟังดูดีทีเดียว
ผู้เขียนกล่าวไว้ในบทนำว่า นอกจากการสำรวจแนวคิดเมืองพอดีอย่างลงลึกแล้ว เขายังมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าอีก 3 ประการ ได้แก่ การสร้างชุมชน การออกแบบเมืองพอดีให้เน้นความสัมพันธ์ระหว่างเมืองระยะพอดีและการเอาใจใส่ ประการสุดท้ายคือความสัมพันธ์ระหว่างมิติเมืองพอดีด้านกายภาพกับดิจิทัล
ความพอดีจึงไม่ได้หมายถึงแค่สภาพพื้นที่ใกล้ชิดทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความใกล้ชิดในทางความรู้สึกว่า “ได้ร่วมแบ่งปันบางสิ่งบางอย่างกับผู้อื่นด้วย”
ปัญหาอยู่ที่ว่า ‘พอดี’ เป็นคำที่มีความเป็นนามธรรม พอดีของแต่ละคน แต่ละวัฒนธรรม แต่ละสังคมไม่เท่ากัน ผู้เขียนอธิบายระยะพอดีไว้ 2 ด้านที่ต้องคำนึงถึงในการสร้างเมืองพอดี ได้แก่ ระยะพอดีด้านประโยชน์ใช้สอยกับระยะพอดีด้านความสัมพันธ์
“ระยะพอดีด้านประโยชน์ใช้สอยเปิดโอกาสให้แก่การดำรงชีวิตแลได้ทำสิ่งที่ต้องทำและอยากทำ และเปิดให้เรากระทำต่อโลก…ระบบเมืองพอดีของเรารวมทุกสิ่งที่เชื่อมโยงเรากับระบบสังคมเทคโนโลยีที่กว้างออกไป และเชื่อมโยงเรากับระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตซึ่งเราเป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วย”
มีคำที่ง่ายกว่านั้นที่หนังสือใช้อธิบายเมืองพอดี เรียกว่า เมือง 15 นาที หรือเมืองที่เปิดโอกาสให้เราเข้าถึงปัจจัยการดำรงชีวิตได้ภายในระยะเวลา 15 นาที ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ขนส่งสาธารณะ ห้องสมุด โรงพยาบาล สวนสาธารณะ ฯลฯ
เมือง 15 นาทีเป็นแกนหลักของการรณรงค์เลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงปารีสของแอนน์ ไฮดัลโก เมื่อปี 2020 ความตั้งใจจริงๆ ของแนวคิดนี้คือการลดมลภาวะทางอากาศและเพิ่มคุณภาพชีวิตของชาวปารีส ผู้เขียนอธิบายเพิ่มเติมว่า
“คุณลักษณะแรกของเมืองพอดี คือต้องเป็นเมืองที่มีลักษณะเรียบง่าย สะอาด รวมถึงลักษณะอื่นบางอย่างได้ทันที ได้แก่ เมืองที่ขจัดการบีบให้ต้องเคลื่อนย้าย ลดการจราจร (ลดมลภาวะลงไปด้วย) ซึ่งคืนเวลาให้แก่ชีวิต ให้พื้นที่สาธารณะแก่ผู้คน…และฟุตปาธที่ถูกยึดครองโดยยานพาหนะ เมืองพอดีจึงเป็นเมืองที่เด็กๆ เดินไปโรงเรียนและเล่นบนถนนได้ ผู้สูงวัยรู้สึกปลอดภัยที่จะเดิน และได้ทุกสิ่งที่จำเป็นในย่านนั้น”
ส่วนระยะพอดีด้านความสัมพันธ์สรุปให้ง่ายก็คือ ความใกล้ชิด โดยระยะพอดีด้านประโยชน์ใช้สอยจะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนใกล้ชิดขึ้น ดีขึ้น แปรเปลี่ยนเมืองห่างเหินให้เป็นเมืองใส่ใจ
ผู้เขียนอธิบายไว้น่าสนใจว่าระบบเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการสมัยใหม่ทำให้การบริการทางสังคมและบริการด้านสุขภาพกลายเป็นกิจกรรมเชิงพานิชย์ ‘เมืองบริการ’ ลักษณะนี้เปลี่ยนพลเมืองเป็นผู้บริโภค ทำให้ “บทบาทของชุมชนและความสามารถในการดูแลกันและกันของพลเมืองกลายเป็นศูนย์”
นี่มิได้หมายความว่าระบบเศรษฐกิจและรัฐสวัสดิการไม่จำเป็น ไม่ใช่ว่าท้องถิ่นต้องปิดตนเองจากโลกภายนอกหรือกระทำความโรแมนติก (Romanticize) เช่นที่เคยเป็นกระแสชุมชนนิยมในสังคมไทยช่วงทศวรรษที่ 30 และ 40 เพียงแต่ต้องใช้แนวคิดเมืองพอดีเข้าไปจัดความสัมพันธ์เหล่านี้เสียใหม่ สร้าง ‘ท้องถิ่นที่เปิดรับสากล’ ขึ้น ผู้เขียนตระหนักดีว่าการดำรงดุลยภาพระหว่างการปิดตัวจากภายนอกกับการเปิดรับกระทั่งบั่นทอนทำลายเป็นงานอันละเอียดอ่อน แต่…
“ถ้าได้พบและดำรงดุลยภาพนี้ไว้ได้จะสามารถสร้างสถานที่แบบใหม่ ที่ไม่ได้แยกตัวอยู่โดดเดี่ยว แต่กลายเป็นโหนดของเครือข่ายต่างๆ เครือข่ายใกล้ตัวที่สร้างและฟื้นฟูสายใยเศรษฐกิจสังคมของท้องถิ่น กับเครือข่ายทางไกลที่เชื่อมโยงสถานที่และชุมชนท้องถิ่นกับทั่วโลก”
เมืองพอดีคือการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่ คนกับเศรษฐกิจ และคนกับคน
มานซินี่อธิบายองค์ประกอบการสร้างเมืองพอดีไว้ 5 องค์ประกอบ ได้แก่
1. มีความเป็นท้องถิ่น: นำบริการและโอกาสในการทำงานมาใกล้ชิดพลเมือง
2. กระบวนการทางสังคม: อันเอื้อต่อการสร้างชุมชน
3. ใจกว้าง: ขยายเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง
4. มีความหลากหลาย: เปิดรับผู้คนที่ไม่คาดหมายได้เข้ามาเกี่ยวข้อง
5. การประสานงาน: เชื่อมโยงรูปแบบของการแทรกแซงที่หลากหลายในแนวราบ
ส่วนท้ายของหนังสือยังมีบทความของอิวานา ไพส์ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาเศรษฐกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Cattolica del Sacro Ciore ประเทศอิตาลี และผู้อำนวยการ Transformative Actions Interdisciplinary Laboratory (TRAILab) เรื่อง ‘อนาคตเมืองพอดี เมืองพอดีกับแพลตฟอร์มดิจิทัล’ ซึ่งพยายามตอบโจทย์ความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มดิจิทัลกับเมืองพอดีควรมีหน้าตาอย่างไรจึงจะช่วยให้เมืองพอดีมีความยั่งยืน
ในหนังสือ ผู้เขียนอธิบาย ยกตัวอย่าง อุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น และเสนอเครื่องมือจำนวนมากเป็นแนวทางสร้างเมืองพอดี ถ้าต้องการรู้รายละเอียดคงต้องไปหาอ่านเอง สำหรับผม ระหว่างที่อ่านผมก็จินตนาการไปว่ามันจะดีแค่ไหนถ้าเกิดขึ้นจริงในเมืองไทย
ปัญหาอยู่ที่ว่ามันจะ (ยัง) ไม่เกิดขึ้น ทำไม?
การสร้างเมืองพอดีต้องอาศัยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ การมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายอำนาจซึ่งเป็นประเด็นที่หนังสือไม่ได้กล่าวถึงเลย อาจเพราะมันเป็นเรื่องสามัญพื้นฐานของประเทศที่ระบอบประชาธิปไตยมีความก้าวหน้า เห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจ และการมีสิทธิมีเสียงของพลเมืองในการกำหนดชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองจึงไม่จำเป็นต้องเปลืองพื้นที่พูดถึงอีก เพราะหากท้องถิ่นไม่มีอำนาจอย่างอื่นก็เปล่าประโยชน์
นับตั้งแต่เริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับแรกปี 2504 การพัฒนาประเทศไทยก็วางอยู่บนการดูดกลืนทรัพยากรในรูปแบบต่างๆ จากทั่วประเทศเข้าสู่ศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ ท้องถิ่นถูกควบคุมจากราชการส่วนภูมิภาคที่เป็นมือไม้ของส่วนกลางอีกที
รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่วางกติกาไว้อย่างเป็นรูปธรรม กำหนดให้รัฐต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้นและมากขึ้น แต่หลังจากรัฐประหารปี 2550 การกระจายอำนาจก็เริ่มชะงักงันและถอยหลังจนกู่ไม่กลับหลังรัฐประหารปี 2557 ตามด้วยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เรียกว่าพอเริ่มมีการกระจายอำนาจกลับถูกแตะเบรกชนิดหัวทิ่ม และกลไกรัฐส่วนกลางก็พยายามเข้าควบคุมแบบไม่ให้กระดิกตัว
สามสี่ปีก่อนมีข่าวว่าแค่ท้องถิ่นจะซื้อวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาฉีดหมาจรก็ยังกล้าๆ กลัวๆ ว่าจะโดนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เล่นงาน เพราะ สตง. เคยทักว่าเป็นอำนาจของกรมปศุสัตว์ไม่ใช่ของท้องถิ่น ซึ่งกว่าจะเคลียร์ว่ามีอำนาจทำได้ก็ใช้เวลาปีกว่า แล้วจะเราสร้างเมืองพอดีที่ต้องใช้ทั้งอำนาจและทรัพยากรมากกว่าการฉีดโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างไร
เมื่อความคิดทางการเมืองเริ่มเปลี่ยน การกระจายอำนาจอย่างการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด การให้อำนาจท้องถิ่นในการจัดเก็บและใช้ภาษี หรือการยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค เป็นกระแสที่ถูกพูดถึง ได้รับการตอบรับมากขึ้น การสกัดกั้นก็เกิดขึ้นอีก มันถูกบิดเบือนว่าเป็นความพยายามนำพาประเทศไปสู่การเป็นสาธารณรัฐเสียอย่างนั้น
‘เมืองพอดี’ ต้องเริ่มจากผู้คนที่มาร่วมกันสร้าง พวกเขาจะมาร่วมกันสร้างได้ต้องมีโครงสร้างทางการเมืองรองรับ มีเสรีภาพที่จะแสดงความเห็น บอกความต้องการของตน เมืองจึงจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการเรียนรู้ และอื่นๆ อีกมากมายที่จินตนาการจะนำพาไป
โดย กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล /แอดมินเพจ WanderingBook และสื่อมวลชน