เวทีสภานโยบายอาหารนนทบุรีครั้งที่1

เวทีระดับจังหวัดสร้างความร่วมมือระบบอาหารสุขภาวะและยั่งยืน หรือเวทีสภานโยบายอาหาร ครั้งที่ 1 ที่โครงการนวัตกรรมสภาอาหาร ภายใต้การสนับสนุนของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ร่วมกับสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจัดขึ้น ภายใต้หัวข้อ “ระบบนิเวศอาหารปลอดภัยจากทุกภาคส่วน” จบลงแล้วเมื่อวานนี้ (9 มกราคม 2567) โดยมีผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดนนทบุรี เกษตรอำเภอ กองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี เกษตรกรผู้ผลิต รวมทั้งคณะครูโรงเรียน 4 แห่งและ 2 ชุมชนเครือข่ายในจังหวัดนนทบุรี ภาคประชาสังคม ได้แก่ ภาคีแผนอาหาร สสส. สมัชชาสุขภาพจังหวัดนนทบุรี รวมทั้งประชาชนผู้สนใจระบบอาหารร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทความรับผิดชอบในด้านอาหารและการเกษตรของแต่ละหน่วยงาน พร้อมให้ข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนระบบอาหารในจังหวัดนนทบุรีเพื่อความยั่งยืนกันอย่างคับคั่ง

กิจกรรมช่วงเช้าของเวทีสภานโยบายอาหารจังหวัดนนทบุรี ครั้งที่ 1 เป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ระบบอาหารนนทบุรี การขับเคลื่อนระบบอาหารด้วยรูปแบบสภาอาหาร และสภานโยบายอาหารจังหวัดนนทบุรีกับอัตลักษณ์อาหารที่ปลอดภัย โดยมี รศ.บำเพ็ญ เขียวหวาน สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ มสธ. เป็นผู้ดำเนินรายการและเปิดวงภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกันระดมความคิดเห็น โดยคุณวัลลภา แวนวิลเลียนส์วาร์ด ผู้รับผิดชอบโครงการนวัตกรรมสภาอาหาร กล่าวถึงความสำคัญที่ประชาชนทุกคนจำเป็นต้องรับรู้และมีส่วนร่วมในระบบอาหาร เนื่องจากอาหารมีกระบวนการตั้งแต่ระบบการผลิต การกระจาย การบริโภค ไปจนถึงการเกิดปัญหาขยะอาหาร (food waste) รวมทั้งยังมีพฤติกรรมการกินตามยุคสมัยที่ไม่เหมือนเดิม เช่น กินตามสะดวก ไม่หลากหลาย และสำเร็จรูป ส่งผลต่อระบบการผลิตและทำให้เกิดโรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) ทั้งหมดนำไปสู่การขับเคลื่อนเรื่องสภาอาหารเพื่อไปถึงวันพรุ่งนี้ที่มีอาหารปลอดภัยและการผลิตที่ไม่ทำลายระบบนิเวศ โดยมองว่าแนวคิดสภาอาหารเป็นการมองและแก้ไขปัญหาในเชิงระบบ เนื่องจากระบบอาหารมีความซับซ้อน ผู้บริโภคทุกคนต้องคิดว่าตัวเองเป็นพลเมืองอาหารที่มีศักยภาพในการทำบางอย่างเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง สภาอาหารยังต้องการพื้นที่ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน โดยมี 3 กลไกสำคัญในการขับเคลื่อน ได้แก่ กลไกภาคสังคมที่บุกเบิกและสร้างตัวแบบ กลไกภาคส่วน และกลไกวิชาการ สำหรับการขับเคลื่อนให้เกิดสภานโยบายอาหารในจังหวัดนนทบุรีเพื่อสร้างระบบอาหารปลอดภัยและยั่งยืนร่วมกับสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มสธ. จะมี Pilot Project ที่เป็นพื้นที่ทดลองความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ จำนวน 4 โรงเรียน 2 ชุมชนและพิจารณาผลลัพธ์ร่วมกัน

ด้านคุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวถึงความสำคัญของจังหวัดนนทบุรีที่เป็นแหล่งทรัพยากรและพื้นที่การเกษตรที่สำคัญ มีภูมิปัญญาที่พัฒนายาวนานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและเหมาะสมกับพื้นที่ เช่น ระบบเกษตรแบบสวนยกร่องที่เป็นแหล่งกำเนิดความหลากหลายและต้องหาวิธีถ่ายทอดองค์ความรู้ ขณะเดียวกันก็มีความท้าทายเรื่องความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอาหาร และความปลอดภัยของอาหาร เนื่องจากไทยแพนได้ทำการตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในผลผลิตจากตลาดพบว่า 67% ของผลไม้ที่คนไทยรับประทานมีสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ขณะที่องค์การวิจัยระหว่างประเทศได้ทำ food security index วัดสามส่วน ได้แก่ ความเพียงพอ ความปลอดภัย โภชนาการ พบว่าประเทศไทยได้ดัชนีความปลอดภัยอาหารอันดับที่ 102 จาก 112 ประเทศ

ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถียังเสนอหลายประเด็นที่สภาอาหารนนทบุรีสามารถนำมาขับเคลื่อน เช่น การทำฐานข้อมูลพื้นที่การเกษตรของจังหวัดนนทบุรีเพื่อเห็นศักยภาพในการขับเคลื่อนประเด็นอาหารปลอดภัย การจัดทำข้อมูลสถานการณ์สุขภาพที่เกี่ยวกับอาหารของผู้คนในจังหวัดนนทบุรี อาทิ สภาวะโภชนาการของนักเรียนในนนทบุรีทั้งหมดเมื่อเทียบกับสถานการณ์ระดับประเทศ เพื่อตระหนักถึงปัญหาและแก้ไขปัญหาภาวะโภชนาการขั้นพื้นฐาน การทำงานเรื่องอาหารปลอดภัยซึ่งควรทำอย่างต่อเนื่องโดยมีฐานข้อมูลสารตกค้างในพืชผักที่จำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและผลตรวจเลือดเกษตรกรที่ไทยแพนและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรีเคยทำมาแล้ว การจัดทำทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการว่ามีอะไรเป็นนวัตกรรมที่มุ่งไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนเพื่อวิเคราะห์ว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร โดยเขาเสนอให้ทำนวัตกรรมการเกษตรเรื่องสวนยกร่องเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกันและผลักดันเป็นระบบวัฒนธรรมเกษตรโลก (The Globally Important Agricultural Heritage Systems (GIAHS) ) เหมือนประเทศจีนที่เสนอเรื่องเลี้ยงปลาในนาข้าว และอีก 1 โจทย์ใหญ่ที่อยากให้ขับเคลื่อนร่วมกันคือการเชื่อมโยงผลผลิตปลอดภัยจากเกษตรกรผู้ผลิตอาหารปลอดภัยในจังหวัดนนทบุรีสู่ผู้บริโภคเชิงสถาบัน เช่น โรงเรียน และตลาดขนาดใหญ่

“อาจมีโมเดลว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่โรงเรียนในนนทบุรีที่หลายหน่วยงานช่วยกันทำตอนนี้จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่นนทบุรี และมีเงื่อนไขว่าเป็นอาหารดี ปลอดภัย มีโภชนาการครบถ้วน ตอนนี้หลายจังหวัดมีการรวมกันแล้วว่าจะทำโมเดล เช่น สงขลามี 30 โรงเรียน จะทำระบบอาหารที่ซื้อวัตถุดิบจากการเกษตรในท้องถิ่นท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนโรงเรียน” คุณวิฑูรย์กล่าว

สำหรับช่วงบ่ายเป็นการนำเสนอแนวคิดการทำแผนที่อาหารเมืองนนทบุรี และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนและออกแบบรูปแบบการดำเนินงานสภาอาหารแต่ละส่วน โดยข้อมูลที่ได้รับจากเวทีทางโครงการฯ จะนำมาพัฒนาและออกแบบกระบวนการขับเคลื่อนสภานโยบายอาหารนนทบุรีร่วมกับภาคีภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมสร้างระบบอาหารยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรีต่อไป

เวทีการประชุมนี้จัดขึ้นโดย โครงการนวัตกรรมสภาอาหาร ภายใต้การสนับสนุนของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. ร่วมกับสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และบริษัท อินี่ เครือข่ายนวัตกรรมสากล จำกัด