หนังสือเล่มนี้เขียนโดยดร.วันทนา ศิวะ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและอาหาร กำลังชี้ชวนให้เราตั้งคำถามกับมายาคติของพวกบรรษัท หรือที่เรียกรวมๆ ว่า “บิ๊กมันนี่” ซึ่งเป็นกลุ่มคนเพียง 1% ที่กำลังทำตัวเป็นเป็น “ภัยธรรมชาติในคราบมนุษย์” เข้าครอบครอง, บงการ, ตัดสิน โดยไม่ฟังคำทัดทานจากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการจดสิทธิบัตรด้วยวิธีการที่ไม่ชอบธรรม โดยตัวแทนที่ปราศจากความรู้ความเข้าใจ พืช GMO เช่น มะม่วง, กล้วย, หรือข้าวสีทอง ที่ปลูกง่ายและคงทนต่อทุกสภาวะภูมิอากาศ แต่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมและใช้ทั้งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ตกค้างมาสู่ผู้บริโภคและเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็ง สิ่งเหล่านี้ได้ทำลาย 75% ของระบบน้ำ ทำให้ผืนดิน 75% เสื่อมโทรมกลายเป็นทะเลทราย ยังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศถึง 40% และทำให้ 93% ของความหลากหลายทางชีวภาพสูญหายไป
ทว่ายังไม่สายเกินไป ในบรรดามนุษย์ 7,000 ล้านคน ในสรรพสัตว์อีก 300 ล้าน สปีชีส์ ยังมีกลุ่มผู้คนและองค์กรอีกมากที่มีแนวคิดสร้างสรรค์ กลุ่มคนที่จะพร้อมจะสร้างโลกยุคใหม่ คือยุค “Ecozoic age” อันเป็นยุคที่เราตระหนักว่า “โลก ไม่ใช่สมบัติของเรา หากแต่ เรา เป็นพลเมืองของโลก เป็นสมาชิกชุมชนโลก” เป็นผู้ที่จะปลดปล่อยจิตวิญญาณของตนเองออกจากกรงขังที่เรียกว่า เชื้อเพลิงฟอสซิล พืชจีเอ็มโอ และวิธีคิดแบบลดทอน การยึดครองทรัพยากรและอาณานิคม ด้วยสิทธิบัตรและประชาธิปไตยในคราบทุนนิยมที่บริหารโดยเครื่องจักรทำเงิน 1%
พวกเรากำลังยืนอยู่ ณ ทางแยกแห่งวิวัฒนาการ เราสามารถเลือกที่จะเดินหน้าต่อไปสู่การสูญสิ้นเผ่าพันธุ์บนทางที่พวก 1% วางเอาไว้ หรือเลือกที่จะหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตในฐานะสมาชิกชุมชนโลก ด้วยมโนสำนึกว่าเรามีศักยภาพที่จะหลีกเลี่ยงการสูญพันธุ์ได้ ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูระบบนิเวศ ร่วมกันปกป้องผืนแผ่นดินและทรัพยากรจากการกัดเซาะสกัดถลุงของกลุ่มทุนใหญ่ ปกป้องสัมพันธภาพดีๆ ที่มีต่อกันและกันของผู้คน โดยยึดหลัก 3 ประการของมหาตมะคานธี คือ
เสาวราช (Sawaraj) หมายถึงการปกครององค์กรของตนเอง ด้วยระบอบประชาธิปไตย อย่างมีธรรมาภิบาล โดยใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการระดมทรัพยากรกายภาพ เศรษกิจและจิตวิญญาณของทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ร่วมสำหรับทุกชีวิต ให้ทุกคนบนโลกได้มีส่วนร่วมในการปกป้องโลกและธรรมชาติ และมีสิทธิโดยชอบธรรมในการตัดสินอนาคตของตนผ่านการปกครองตัวเอง
สวเทศี (Swadeshi) การพึ่งตนเองและการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยอำนาจและทรัพยากรจะต้องไม่กระจุกตัวรวมศูนย์โดยรัฐชาติหรือในความควบคุมของบรรษัทใหญ่หรือสถาบันระดับโลก ผลักดันกระบวนการท้องถิ่นภิวัตน์ (localization) ทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดยหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งเสรีภาพที่แท้จริงที่อยู่ในหัวใจของพวกเราทุกคน สร้างความตระหนักรู้ถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างตัวเรา เพื่อนมนุษย์ด้วยกันและรวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นหลากหลายบนดาวดวงนี้ อย่างสร้างสรรค์โดยใช้ศักยภาพของเราในการจัดการสิ่งต่างๆ โดยมุมมองที่ว่า ทุกคนคือหุ้นส่วนของธรรมชาติ
สัตยาเคราะห์ (Satyagraha) พลังแห่งความจริง และการดื้อแพ่งอย่างสร้างสรรค์ คือการไม่ร่วมมือกับระบบ โครงสร้าง กฎหมาย หรือกระบวนทัศน์ใดๆ ก็ตามที่ทำร้ายโลก ดังเช่น สัตยาเคราะห์เกลือ เพื่อต่อต้านรัฐบาลอังกฤษของคานธี หรือสัตยาเคราะห์เมล็ดพันธุ์ ของโรงเรียนนวธัญญะ ที่ปกป้องสิทธิในการเป็นเจ้าของ และพื้นฟูความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์ เราไม่จำเป็นต้องอพยพไปอยู่ดาวดวงอื่น เราจะไม่ตกอยู่ในความสิ้นหวังของการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์อย่างที่พวก 1 % ชี้นำ ถ้าเราตื่นรู้ถึงปัญญาและศักยภาพในสร้างการวิวัฒน์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยโลก ที่ให้ความสำคัญกับศีลธรรมและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทุกฝ่าย เพื่อดูแลรักษาโลกใบนี้ให้ฟื้นคืนกลับมาและส่งมอบสู่คนรุ่นต่อไป