Food design จากวัฒนธรรมสู่นวัตกรรม หนังสือรวมบทสัมภาษณ์จากหลากหลายบุคลากรด้านอาหารไทยประจำถิ่น สอดแทรกความรู้ด้านเครื่องปรุงและวัตถุดิบที่มีความหลากหลาย รวมถึงวิถีชีวิตของเกษตรกร ตลอดจนการเกษตรอินทรีย์ในแต่ละท้องถิ่น ทั้งยังสะท้อนให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมด้านการกิน และการประกอบอาหารของแต่ละภูมิภาคประเทศไทยออกมาได้อย่างเป็นเอกลักษณ์ ให้เราได้ตระหนักถึงคุณค่าของการบริโภคอย่างสร้างสรรค์ นอกจากจะส่งผลให้มีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังช่วยอนุรักษ์ระบบนิเวศ และเป็นส่วนร่วมของการเปลี่ยนแปลงสังคมตลอดจนช่วยดูแลรักษาโลกใบนี้ให้สวยงามน่าอยู่ไปอีกนาน
รสชาติ พาผู้อ่านไปรู้จักอาหารไทยรสชาติละเมียด ผ่านมุมมองเชฟปริญญ์ ผลสุข ผู้มีประสบการณ์การเป็นเชฟของร้านน้ำ ร้านอาหารไทยชื่อดังแห่งกรุงลอนดอนเป็นเวลา 4 ปี แล้วมาเป็นเชฟร้านน้ำสาขาประเทศไทยอีกหลายปี เชฟปริญญ์คือผู้ก่อตั้งโครงการสำรับสำหรับไทย และยังพยายามรื้อฟื้นเมนูอาหารไทยหลากหลาย ที่ปรากฏอยู่ในตำราแม่ครัวหัวป่าก์ เพื่อนำเสนอรสชาติไทยที่เข้มข้นและมีลำดับชั้นโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จากรากเหง้าของรสชาติอาหารพื้นถิ่นสู่เวทีอาหารสากล
สุขภาวะ อาหารไทยเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการหลากหลาย หากได้รับสารอาหารบางชนิดน้อยเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะโภชนาการต่ำ หรือถ้ามากเกินไปก็อาจเป็นภาวะโภชนาการเกิน ซึ่งล้วนไม่ดีต่อสุขภาพ จึงต้องมีนักโภชนาการอาหารคอยให้คำแนะนำ คุณป๋วย อัฌชิมา ศรีปรัชญาอนันต์ นักกำหนดอาหารแห่งร้าน Little Sunshine คุณป๋วยมีความเชื่อเรื่องภูมิปัญญาพื้นถิ่น คือการประยุกต์เอาสารอาหารที่ได้จากวัตถุดิบพื้นถิ่น มาใช้ดูแลรักษาสุขภาพของผู้ที่เข้ามาขอคำปรึกษา สอดคล้องไปกับทฤษฎีแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเน้นที่การกินอาหารเพื่อสุขภาพให้ได้สารอาหารทุกชนิดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ดังวิถีแต่โบราณว่าอาหารเป็นยา
ชุมชน เรื่องราวของไร่ทองออแกนิกส์ฟาร์ม ผ่านมมมองของคุณลลนา ศรีครามผู้ก่อตั้ง และคุณแพร อารียา ติวะสุระผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกร ไร่ทองออแกนิกส์ฟาร์มคือหนึ่งในตลาดสีเขียวหรือตลาดอินทรีย์ อันเป็นแหล่งพบปะของเกษตรกรกับผู้บริโภค เพื่อมุ่งเน้นใส่ใจในสุขภาพที่ดี, สภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่ยั่งยืน ด้วยผลผลิตท้องถิ่นปลอดสารพิษจากเกษตรกรผู้ผลิตโดยตรง ช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องขายผลผลิตผ่านคนกลาง และยังช่วยเพิ่มความหลากหลายของผลผลิตมาถึงมือผู้บริโภค มีการใช้ระบบเกษตรพลวัต ปลูกพืชหลังหน้านาเพื่อหมุนเวียนหน้าดิน ฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างพื้นที่ให้เกษตรกรหันมาร่วมมือกันพัฒนา สร้างสรรค์นวัตกรรมของท้องถิ่นขึ้นมาสู้กับระบบผูกขาด เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในอนาคต
ระบบนิเวศ กล่าวถึงการใส่ใจกับระบบนิเวศของอาหาร โดยเน้นเรื่องการใส่ใจในการปฏิบัติอย่างดีที่สุดต่อวัตถุดิบ เชฟหนุ่ม วีระวัฒน์ ตรียเสนวรรธน์ เจ้าของร้านซามวยแอนด์ซันส์ เชฟผู้หวนกลับมาทำอาหารโดยใช้วัตถุดิบอินทรีย์พื้นถิ่น เพื่อนำเสนอวัฒนธรรมและรากเหง้าของอาหารอีสาน โดยยึดหลักการกินตามฤดูกาล เพราะอัตลักษณ์ความฉลาดของชาวอีสานคือการปรับตัวให้สามารถหาวัตถุดิบสดใหม่ได้ในทุกสภาพฤดู และย้ำเตือนให้ชาวอีสานเห็นคุณค่าในขนบประเพณีของตนเอง ทั้งฮีตสิบสองคองสิบสี่ บุญบั้งไฟ บุญพระเวส บุญคูนลาน ฯลฯ เมื่อเห็นคุณค่าในสิ่งรอบตัวก็จะเริ่มเห็นคุณค่าในตัวเองและของวัตถุดิบพื้นถิ่นที่มี จนสามารถนำเสนออาหารพื้นถิ่นอีสานรสชาติแท้ๆ สู่นานาประเทศได้อย่างภาคภูมิ
การเคลื่อนไหว บทสัมภาษณ์คุณแก้วตา ธัมอิน นักกิจกรรมของเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก หนึ่งในหลายขบวนการเคลื่อนไหวสโลว์ฟู๊ดของประเทศไทย มีเป้าหมายให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงอาหารที่สะอาดปลอดภัย และไม่เอารัดเอาเปรียบผู้ผลิต โครงการกินเปลี่ยนโลกก่อตั้งมาประมาณปี 2552 โดยมีจุดมุ่งหมายด้านการกระจายแหล่งจำหน่ายให้ชาวเกษตรอินทรีย์ และสร้างตลาดพบปะระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยไม่ผ่านคนกลาง เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีตัวเลือกวัตถุดิบที่หลากหลาย ไม่ต้องซื้อแต่วัตถุดิบผูกขาดจากนายทุน และยังส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่หันมาทำเกษตรกรรมกันมากขึ้นด้วย
สุนทรียะและความคิดสร้างสรรค์ พบกับ เชฟแบล็ก ภานุภน บุลสุวรรณ แห่งร้าน Blackitch ผู้นำเสนออาหารที่ผ่านการทดลองค้นคว้าทั้งด้านวัตถุดิบและรสชาติมาตลอด เพื่อให้ได้มาซึ่งสุนทรียศาสตร์ในอาหาร เชฟแบล็คเชื่อว่าอาหารอร่อยอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ควรต้องสร้างความประทับใจให้ผู้กินอย่างครอบคลุม ทั้งรูปรสกลิ่นเสียงประกอบกันด้วย จึงได้ทำการปรับเปลี่ยนอาหารจานเดิมซ้ำซาก ให้มีการนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ทั้งการจัดวางและรสชาติที่โดดเด่นดูน่าลิ้มลองมากขึ้น ด้วยแนวคิดแบบเชฟเทเบิ้ล คือการที่พ่อครัวปรุงอาหารให้ลูกค้าดูบนโต๊ะจนเสร็จแล้วจึงเสริฟกันตรงหน้าเลย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าจำนวนมาก
นวัตกรรม พบกับคุณมิ้น ธัญญพร จารุกิตติคุณ และเชฟปริญญ์ พูดถึงการบุกเบิกนวัตกรรมเชิงสังคมด้านอาหารไทย เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคม การกินอาหารผ่านโครงการสำรับสำหรับไทย และสร้างความแตกต่างให้กับสังคมอาหารไทย โดยเน้นที่ความเปิดกว้างไม่มีรูปแบบตายตัวเพื่อให้เกิดความหลากหลายในอนาคตต่อไป
แพลตฟอร์มใหม่ บทสัมภาษณ์คุณเต้ จิราภรณ์ วิหวา และคุณบี สลิลา มหันต์เชิดชูวงศ์ สองบรรณาธิการณ์บทความของกรีนเนอรี่ กลุ่มสื่อที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับด้านอาหาร โดยมีทั้งเพจและเว็ปไซต์ในโชเชียลมีเดีย เพื่อจูงใจให้คนเมืองได้หันมาสนใจในการบริโภคอาหาเกษตรรอินทรีย์กันมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นความสำคัญของสื่อโซเซียลมีเดียในการประชาสัมพันธ์ผลผลิตของตัวเอง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต