เขียนโดย ดร.เวย์น โรเบิร์ตส์ นักเขียนและนักวิเคราะห์นโยบายอาหารชาวแคนาดา เป็นหนังสือที่กระตุ้นให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงบทบาทของตัวเองในฐานะผู้บริโภคว่า “การกิน” ในทุกวันของเรานั้นไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราเอง หากยังส่งผลต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ตลอดจนระบบนิเวศในโลกไปพร้อมกันด้วย การกินอย่างมีประสิทธิภาพจึงไม่ได้หมายถึง การกินอาหารฟาสต์ฟู๊ดราคาถูก ที่ใช้กรรมวิธีการผลิตเชิงเดี่ยว อาบสารเคมีเข้มข้น เช่นยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าหญ้า ผ่านการแปรรูปจำนวนมากๆ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้นับว่า ไร้ประสิทธิภาพต่อสุขภาพของผู้คนและสิ่งแวดล้อมโดยสิ้นเชิง ความมีประสิทธิภาพที่แท้จึงเป็นการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ริเริ่มที่จะบริโภคอาหารท้องถิ่น ด้วยวัตถุดิบปลอดสารเคมีจากเกษตรกรท้องถิ่น ที่ผลิตโดยรักษาระบบนิเวศและดูแลธรรมชาติไปพร้อมกัน
1.แนะนำระบบอาหาร แนวคิดเรื่องระบบอาหาร ช่วยอธิบายปัญหาที่แอบซ่อนอยู่พร้อมชี้วิธีการเยียวยาแก้ไขให้เด่นชัด ทั้งความไม่ปลอดภัยของอาหารแปรรูป ภาวะทุพโภชนาการที่ทำให้เกิดโรคอ้วนเรื้อรัง เบาหวาน และโรคไม่ติดต่ออีกมากมาย จนกระทบถึงผู้หิวโหยและความยากจนซึ่งล้วนมาจากสถานการณ์อาหารทั่วโลกทุกวันนี้เอง อาหารหลักมากมายสูญเสียคุณค่าหลักของมันเพราะกระบวนการแปรรูปและผลิตจำนวนมาก เช่นขนมปังโฮลวีต ขนมปังมัลติเกรน ขนมปังเบเกิล และพาสต้า ล้วนปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ที่คัดเลือกมาแล้วให้อบง่ายและเสียยาก หาใช่พันธุ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและอุดมกากใย มะเขือเทศที่ปลูกในฟลอริด้าก็เลือกพันธุ์ที่มีสีสดใส แทนที่จะเลือกเอาพันธุ์ที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่ดีต่อร่างกาย หรือน้ำมันปาล์มที่ดั้งเดิมนั้นมาจากแอฟริกาตะวันตก ก็เคยเป็นน้ำมันพืชที่มีคุณค่าถึงขนาดเรียกได้ว่าอาหารมหัศจรรย์ ที่อุดมด้วยวิตามินอี เค เอ และมีปริมาณโคเลสเตอรอลชนิดที่ดีอยู่มาก แต่เมื่อถูกนำมาใช้ในเชิงพานิชย์และย้ายฐานการผลิตมาที่มาเลเซียและอินโดนีเซียแล้ว คุณภาพต่างๆ ก็ถูกแทนที่ด้วยการผลิตจำนวนมากทำให้ต้องผ่านการแปรรูปจนหาคุณค่าเดิมแทบไม่เจอ นอกจากนั้นหนึ่งในสามของปริมาณก๊าซเรือนกระจกมาจากภาคเนื้อสัตว์ของอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตอาหารในระดับอุตสาหกรรมยังเป็นสิ่งที่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก สร้างความเสียหายมากกว่าการตัดไม้ ทำเหมือง หรืออุตสาหกรรมหนัก และยังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย ให้เกิดการล้มละลายและฆ่าตัวตายจำนวนมาก วิธีที่จะหลุดพ้นจากระบบอาหารที่ผิดนี้ จึงต้องเปลี่ยนแปลงทั้งจากปัจเจกบุคคล ไปจนสถาบันทางสังคมหลากหลาย ทั้งความร่วมมือของหน่วยงานรัฐจำนวนมาก เพื่อให้ระบบอาหารรูปแบบใหม่อุบัติขึ้นมา เป็นทางเลือกจากระบบอาหารแบบปัจจุบัน
2.อาหารใหม่ที่ห้าวหาญ อุตสาหกรรมอาหารกำเนิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ความเก่งกาจในภาคการผลิตของสหรัฐคือ สามารถเพิ่มผลผลิตเป็นสองเท่าภายในระยะเวลาเพียงห้าปี และผลิตเสบียงในปริมาณมากเพียงพอที่จะเลี้ยงทหารอเมริกันรวมทั้งทหารยุโรปทั้งหมดในระหว่างสงคราม จึงก่อให้เกิดการพัฒนาอาหารให้กลายเป็นอุตสาหกรรมในภายหลัง เรียกได้ว่าเป็นการหันปากกระบอกปืนและลูกระเบิดมาสู่พื้นดินหลังสงครามจบ เพราะนอกจากการปฏิวัติอุตสาหรรมแล้ว ยังมีการปฏิวัติในครัวเรือน การขนส่ง การเกิดขึ้นของซุปเปอร์มาร์เก็ต และสุดท้ายที่ตามมาคือโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคร้ายของผู้บริโภคอาหารขยะราคาถูกที่มีโคเรสเตอรอลเกิน ทั้งยังมีกรรมวิธีการผลิตที่ขาดความเป็นธรรมต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
3.อาหารราคาถูกมีต้นทุนสูง การอุบัติขึ้นของอาหารขยะที่ผลิตเชิงอุตสาหกรรมในซีกโลกเหนือ ส่งผลกระทบให้เกิดโศกนาฏกรรมในซีกโลกใต้ อาหารราคาถูกยังแฝงไว้ด้วยต้นทุนอันมหาศาล ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ของชุมชน และเศรษฐกิจ เกษตรกรในซีกโลกเหนือใช้ข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีชั้นสูง ในการส่งออกธัญพืชผลิตภัณฑ์นมเนยและเนื้อสัตว์ราคาสูงสู่ผู้คนในซีกโลกใต้ แต่แรงงานตลอดจนผู้บริโภคในซีกโลกใต้ซึ่งเป็นผู้ผลิตทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำเพื่อส่งออกสินค้าทุกชนิดไปยังซีกโลกเหนือด้วยราคาที่ถูกกว่ามาก โดยอาหารเหล่านี้ยังมีต้นทุนซ่อนเร้นที่คนส่วนมากมักมองข้ามได้แก่ 1.สุขภาพที่ย่ำแย่เพราะอาหารที่ไม่ครบโภชนาการ 2.ความยากจนของเกษตรกรรายย่อย 3.ความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมเพราะเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว 4.ผลกระทบจากการทิ้งอาหารโดยเปล่าประโยชน์ อันก่อให้เกิดก๊าซมีเทนและปฏิกริยาเรือนกระจก 5.การปลอมปนอาหาร เช่นแยมที่ใช้สารปรุงแต่งรสแทนเนื้อผลไม้จริง เนื้อไก่หรือเนื้อหมูที่ฉีดสารเคมีฉ่ำน้ำเพื่อให้ได้ปริมาณน้ำหนักรวมมากขึ้น ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น ความล้มเหลวของกลไกการตลาด ที่เกิดขึ้นเพราะปัญหาการกระทำร่วมของภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งทุกภาคฝ่ายจำเป็นต้องแก้ไขโดยร่วมมือกัน
4.เรื่องเล่าของสองโลก:ทำความเข้าใจกับอธิปไตยทางอาหาร อันหมายถึงความเข้าใจอันทรงพลังทั้งยังท้าทายเรื่องของสิทธิในด้านอาหาร ซึ่งเรื่องนี้ผุดขึ้นมาในช่วง 1990 ในฐานะส่วนหนึ่งของการรณรงค์โดยชาวไร่ชาวนาเพื่อต่อต้านองค์การการค้าโลก(WTO)โดยนำคำว่าอาหาร มาจับคู่กับคำว่าความมั่นคง(security) กับคำว่าอธิปไตย(sovereignty) โดยมีนิยามคือ คนทุกคนในทุกเวลาสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยมีคุณค่าทางโภชนาการ และเหมาะสมทางวัฒนธรรมได้ในปริมาณที่เพียงพอ เมื่อWTOเข้ามามีอิทธิพลเหนือกฏหมายปกป้องผลประโยชน์ทางการเกษตรระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดวงจรการส่งออกเครื่องใช้ครัวเรือนรวมไปถึงเสื้อผ้าราคาถูกจากซีกโลกใต้มายังซีกโลกเหนือ กลับกันเกษตรกรซีกโลกใต้นั้นกลับต้องตกงานและหลั่งไหลจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อขายแรงงาน และยังต้องนำเข้าอาหารราคาถูกจากซีกโลกเหนือทั้งที่ตนสามารถผลิตได้เอง(แต่โดนตัดราคาจนผลิตไปก็ไม่คุ้มทุน) จนปี 1992 เกิดเป็นองค์การ ลา เวีย คัมเปชิน่า ซึ่งก่อตั้งโดยกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ชาวประมงและชนพื้นเมืองราว 200 ล้านคน ขึ้นมาเพื่อต่อต้านกฏของ WTO โดยเรียกร้องให้เอาการเกษตรออกจาก WTO และส่งเสริมแนวคิดว่าด้วยอธิปไตยทางอาหาร ลดการผูกขาดการกำหนดราคาและแนวปฏิบัติทางการผลิตโดยกลุ่มนายทุนฝ่ายเดียว ความแตกต่างสำคัญด้านการผลิตของซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้นั้นคือ ซีกโลกเหนือจะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรม ส่วนซีกโลกใต้นั้นการผลิตจะเกี่ยวข้องกับนิเวศวิทยาเกษตร ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบที่หาได้จากป่าทุ่งหญ้าชายหาด ตลอดจนแมลงนานาชนิดมาผลิตอาหาร ซึ่งล้วนเป็นแหล่งทรัพยากรอันมั่งคั่งที่ถูกมองข้าม การปกป้องการเกษตรแนวนี้ยังช่วยลดการแผ้วถางป่ามาทำไร่นา รักษาวิถีชีวิตพื้นถิ่นที่กำลังสูญหาย เป็นคุณค่าที่ไม่สามารถคำนวณมูลค่าได้ หากเราสามารถรักษาความหลากหลายเหล่านี้ไว้ได้แล้ว เราจะสามารถอยู่รอดได้แม้ในสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกในอนาคต
5.ขนมปังและดอกกุหลาบ:การเอาชนะความหิวโหย ประชากรหนึ่งคนในทุกๆเจ็ดคนต้องทนทุกข์จากความหิวโหยอยู่ทุกวันนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชีย แอฟฟริกาและอเมริกาใต้ ทั้งๆที่โลกนี้มีอาหารเหลือเฟือแต่เพราะความต่างของสภาวะภูมิประเทศ ภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงธุรกิจผูกขาด ทำให้ปัญหาความหิวโหยนี้เป็น “ปัญหาที่แก้ไขได้ยากที่สุดของโลก” ฌาคส์ ดิอุฟ อดีดผู้นำองค์กรอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO)กล่าวว่า สิ่งจำเป็นที่ขาดหายไปในการแก้ปัญหาความหิวโหยไม่ใช่การขาดแคลนอาหาร แต่เป็นการขาด “เจตจำนงทางการเมือง” นอกจากนั้นยังต้องมีทักษะในการออกแบบโครงการที่ดี รวมถึงความมุ่งมั่นจากภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เพื่อที่จะต่อกรกับกลุ่มอิทธิพลผู้ได้ประโยชน์จากระะบบนายทุน สวนครัวแห่งเมืองคิวบา ปี 1912 สองสาวชาวคิวบาชูป้ายข้อความประท้วงว่า “พวกเราต้องการขนมปัง และเราต้องการดอกกุหลาบ” หน้าโรงงานของพวกเธอในรัฐนิวเจอร์ซี่ย์ ซึ่งกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก รัฐบาลเริ่มรณรงค์ป้องกันความหิวโหย โดยมีการสนับสนุนให้ประชาชนพื้นเมืองทำสวนเพาะปลูกด้วยตนเองบนที่ดินสาธารณะ แล้วจึงนำผลผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาด มีการจัดอบรมให้แก่ผู้คนในแต่ละละแวกบ้านของตนให้สร้างแปลงผลิตอาหารป้อนในแต่ละครัวเรือน ริเริ่มการปลูกพืชในอินทรีย์วัตถุ เรือนเพาะชำต้นไม้หรือที่ทิ้งขยะ และยังสร้างระบบการเกษตรที่ยืดหยุ่นเพื่อปรับตัวรับมือกับการเปลื่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บราซิลและโครงการทำให้ความหิวโหยเป็นศูนย์ อันเป็นโครงการระดับชาติ ประกอบด้วยตัวแปรสำคัญคือ การเสริมสร้างอำนาจให้ภาคประชาชน ให้ผู้คนภาคภูมิใจมากพอที่จะทำสิ่งต่างๆเพื่อตัวเองโดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลมาขับเคลื่อนก่อน แต่ก็ยังพร้อมตอบรับปฏิบัติการจากรัฐบาลอย่างสมานฉันท์ “ปภิบัติการสามแนวทาง” จากภาครัฐ 1.ให้หญิงตั้งครรภ์และแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนได้รับแป้งที่อุดมด้วยสารอาหารอย่างเพียงพอ 2.ช่วยให้ภาคธุรกิจตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนรายได้น้อย รวมถึงก่อตั้งกิจการ ร้านอาหารประชาชน 3.สร้างแรงจูงใจให้การผลิตอาหารพื้นฐานที่นำไปสู่การออกแบบระบบอาหารใหม่อย่างแท้จริง สร้างโครงการ โบลซา ฟามิเลีย สวัสดิการให้เบี้ยยังชีพแก่ทุกครอบครัว โดยทุ่มงบประมาณสี่พันล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อปี ส่งเงินเข้าสู่มือผู้เป็นแม่ให้นำเงินไปเลี้ยงดูลูกและส่งเสียพวกเขาให้ได้รับการศึกษา เรียกได้ว่าเป็นการถ่ายโอนรายได้จากภาครัฐที่ใจกว้างที่สุดในซีกโลกใต้ โยริโต ฮอนดูรัส ที่นี่มีการก่อตั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อขจัดความยากจน เช่นสนับสนุนช่างฝีมือชนพื้นเมือง สร้างโครงการรณรงค์เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตในเด็กทารก ส่งเสริมให้ประชาชนทำสวนหรือแปลงผลิตผักในครัวเรือน อำนวยความสะดวกให้เด็กๆในโรงเรียนได้มีอาหารตามฤดูกาล และเรียนหลักสูตรสำหรับการเกษตร จากเจตจำนงทางการเมืองเหล่านี้เองจึงมาสู่ความเป็นไปได้ในการพึ่งตนเองด้านอาหารโดยมีรัฐเป็นผู้หนุนเสริม
6.เมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง:กำเนิดของขบวนการอาหาร หรือกลุ่มคนกลุ่มใหม่ที่ก้าวเข้ามามีบทบาทในเวทีอาหารโลก ผู้ที่จะหยิบยกปัญหาใหญ่เกี่ยวกับอาหารที่โลกกำลังเผชิญอยู่ขึ้นมาเพื่อหาแนวทางแก้ไข รวมถึงการหาวิธีบริโภคเพื่อสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสังคมส่วนรวมไปด้วยกัน โดยเน้นการเกษตรเชิงนิเวศ เกษตรอินทรีย์ และประชาชนจากซีกโลกใต้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะมีบทบาทนำหน้าในขบวนการอาหารนี้ ดังเช่นโครงการลาเวียคัมเปซินา หรือแนวปฏิบัติมากมายที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เช่น สวนครัวในเมือง ตลาดเกษตรอินทรีย์ ฟู๊ดทรัคส์ สร้างแพลตฟอร์มเป็นพื้นที่กลางขึ้นมาที่เชื่อมต่อกันทั่วโลกเพื่อสร้างสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ มีการคว่ำบาต(boycott)ธุรกิจผูกขาดที่ไม่เป็นมิตรต่อโลก และเจาะจงซื้อ(buycott)สินค้าที่ผลิตขึ้นอย่างถูกต้องในราคาที่เป็นธรรม เช่นอาหารอินทรีย์จากผู้ค้าปลีก เกษตรกรรายย่อย และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองให้แก่ผู้ผลิตรายย่อย สร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมหลักสูตรการเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียนตลอดจนเกษตรในเมือง ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความตระหนักเลือกสินค้าที่ไม่ผูกขาดได้แก่ “ท้องถิ่นและยั่งยืน” เพื่อต่อสู้กับยักษ์ใหญ่ของอาหารขยะที่ไม่ยั่งยืน สร้างโครงการวิจัยการเกษตรท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือด้านผสมพันธุ์พืชและด้านอื่นในฟาร์มเกษตรรายย่อย โดยนำความก้าวหน้าใหม่ๆ มาช่วยส่งเสริมการเกษตรแบบดั้งเดิม