เริ่มต้นหนังสือเล่มนี้ให้ภาพความเป็นไปได้ในอนาคตที่น่าเหลือเชื่อและเกือบเรียกว่าเพ้อฝันหากมองจากสภาพแวดล้อมที่ยุ่งเหยิงในสังคมปัจจุบัน ทว่าเมื่อไล่เรียงไปในรายละเอียด ผู้เขียนกลับสามารถทำให้เห็นแนวทางที่สมเหตุสมผลและมีโอกาสเป็นไปได้จริง จนเราอาจมองว่าเป็นหนังสือแนะแนวทางการจัดการปัญหาแบบใหม่ ที่ช่วยให้สังคมเราพ้นไปจากภาวะวิกฤตในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นข้อบีบคั้นทางทรัพยากรที่ลดลงสวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงรูปแบบการดำรงชีวิตที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศ ซึ่งทำให้ประเด็นเรื่องความยั่งยืนกลายเป็นปัญหาที่ต้องเร่งหาทางออก
แนวทางที่ถูกนำเสนอขึ้นมาคือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือการออกแบบร่วม โดยอาศัยข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีการสื่อสารแบบโครงข่ายออนไลน์ที่เชื่อมผู้คนหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ผู้คนสามารถร่วมถกเถียง แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และร่วมออกแบบนวัตกรรมทางสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาหรือหาแนวทางในการจัดการประเด็นต่างๆ ในสังคมตั้งแต่เล็กที่สุดในระดับชุมชนไปได้จนถึงระดับมหภาคที่เปลี่ยนวิถีอันยุ่งเหยิงของสังคมไปในแนวทางอื่นที่ยั่งยืนกว่า
ส่วนสำคัญที่สร้างความแตกต่างคือการเปลี่ยนวิธีที่เราออกแบบสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบพื้นที่ในเชิงกายภาพ ออกแบบโครงสร้างการทำงานในองค์กร ไปจนถึงการออกแบบเชิงสังคม ที่แต่เดิมนั้นเคยเป็นหน้าที่ของนักออกแบบมืออาชีพ ให้กลายไปสู่ “การออกแบบร่วม” ที่ชุมชน (ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่มีปฏิสัมพันธ์กันในโลกความเป็นจริงหรือชุมชนในโลกออนไลน์) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน และนักออกแบบมืออาชีพ เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและหาแนวปฏิบัติที่สามารถแก้ปัญหาในประเด็นที่เครือข่ายความร่วมมือนั้นๆ ให้ความสนใจได้ โดยผู้คนสามารถทำงานร่วมกันได้ภายใต้การนำทางของนักออกแบบมืออาชีพที่ลดบทบาทลงไปเป็นผู้สนับสนุนการออกแบบแบบปลายเปิดนี้
ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างและอธิบายถึงกระบวนการสร้างเครือข่ายการออกแบบร่วมที่เริ่มจากประเด็นท้องถิ่นไว้อย่างเป็นขั้นเป็นตอนและชี้ให้เห็นถึงศักยภาพการออกแบบของปุถุชนทั่วไป ด้วยการอธิบายถึงความจำเป็นที่ผู้คนต้องตัดสินใจและออกแบบสิ่งต่างๆ เพื่อจัดการปัญหาในชีวิตประจำวันเป็นทุนเดิม การออกแบบร่วมจึงไม่ใช่เพียงการพบปะแลกเปลี่ยนแต่เป็นกระบวนการที่ดึงศักยภาพที่มีติดตัวของทุกคนออกมา
และกระบวนการนี้สามารถขยายไปสู่การสร้างสังคมแบบใหม่ เนื่องจากเครือข่ายความร่วมมือที่เกิดขึ้น เมื่อกลายเป็นกระบวนการที่แพร่หลายในระดับสากลรูปแบบสังคมก็ไม่จำเป็นต้องมีการรวมศูนย์ การกระจายองค์ความรู้ ทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานแบบกระจายตัว การผลิตแบบกระจายตัว ไปจนถึงเศรษฐกิจแบบกระจายตัวก็สามารถเกิดขึ้นได้ และกลายเป็นสังคมที่มีความยั่งยืนทั้งในแง่การกระจายความเสี่ยงและการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า อนาคตอันน่าเหลือเชื่อก็จะบังเกิดขึ้นจริงจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างการร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาชุมชนเช่นนี้ได้
เราต่างเป็นนักออกแบบ ไม่เพียงแต่ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่ต่างออกไป แต่นำเสนอแนวทางที่ปรับใช้ได้จริงตามบริบทของแต่ละพื้นที่ และสามารถทำให้เรามองเห็นความหวังจากศักยภาพของคนธรรมดาที่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมได้ รวมทั้งยังแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงความสำคัญและความกว้างขวางของศาสตร์การออกแบบได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น