7-8 พฤศจิกายน 2561
การออกแบบเมืองประสานความร่วมมือ
แนวคิดเพื่อส่งเสริมทิศทางนวัตกรรมสังคมเมือง
เอซิโอ มานซินี่ DESIS International (www.desisnetwork.org)
ภูมิหลัง
เมืองอาจมองและอธิบายได้จากหลากหลายแง่มุม ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือจากมุมมองที่สูงที่มองลงมาและจากภายนอก เมืองที่เราเห็นจากมุมนี้โดยทั่วไปแล้วเป็นเมืองในสายตาของนักวางผังเมือง แต่เมืองยังมองได้จากภายในด้วย ภาพของเมืองในมุมนี้เกี่ยวข้องกับคนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้น คือเมืองของผู้คนและชุมชน เมืองที่ไม่เพียงประกอบด้วยสถานที่ ถนน จัตุรัส หากรวมทั้งสินค้า บริการ และการติดต่อสื่อสาร เมืองแห่งผู้คนและชุมชน นี่เองที่ควรเป็นเมืองแห่งการออกแบบ
มุมมองที่มีต่อเมืองในแบบที่สองนี้ได้กลายมาเป็นมุมมองที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าจะไม่ใช่การแทนที่มุมมองแรก แต่คือการเสนอแง่มุมใหม่และเปิดทางให้เกิดการลงมือทำ โดยทำให้เราได้รู้จักกับกระบวนการสร้างเมืองที่เริ่มต้นจากพลเมืองและสถานที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่และกิจกรรมที่พวกเขาลงมือทำ การวางแผนเมืองโดยการกระตุ้นให้เกิดโครงการอิสระต่างๆ หลายโครงการแล้วประสานงานโครงการเหล่านั้นเข้าด้วยกัน จนสุดท้ายกลายมาเป็นโครงการสร้างเมือง การริเริ่มใหม่ๆ ที่มีวัตถุประสงค์และขนาดแตกต่างกัน และมีปฏิสัมพันธ์กับบริบทแวดล้อมรวมทั้งกับโครงการอื่นๆ ก่อให้เกิดผลต่อบทบาทหน้าที่และอัตลักษณ์ของเมืองโดยรวม
โครงการสร้างเมืองแต่ละโครงการมีแรงผลักดันและนัยยะทางสังคมและการเมืองแตกต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม การแบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรม และทำให้พื้นที่ส่วนรวมของเมืองกลายเป็นสินค้า หรือเราอาจขับเคลื่อนเมืองไปในทิศทางตรงกันข้าม ลดความไม่เป็นธรรม รังสรรค์ความหลากหลาย และสร้างชีวิตชีวาให้กับเมือง โครงการที่เดินไปในทิศทางแรกซึ่งกำลังมีอิทธิพลอยู่ในปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยมุมมองของคนที่มองเมืองเป็นสินค้าที่สามารถขายได้ ขณะที่ทิศทางที่สองขับเคลื่อนด้วยคนที่มองเมืองเป็นพื้นที่แห่งการอยู่อาศัยอันซับซ้อน ประกอบไปด้วยผู้คน ชุมชน และสถานที่ การดำรงอยู่ของเมืองตั้งอยู่บนฐานของโครงข่ายแห่งการประสานความร่วมมือต่างๆ
สมมติฐานการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
กว่าสิบปีของนวัตกรรมสังคมในเมืองช่วยให้เราเห็นถึงสิ่งที่ควรทำในการคิดและพัฒนาโครงการสร้างเมืองต่างๆ ได้แก่ วิธีการออกแบบ (ในการมองเมืองและส่งเสริมโครงการสร้างเมือง), แนวทางการออกแบบ (วิธีการทำงานในเมืองและการปรับโครงการให้มุ่งสู่ความยั่งยืน) และภาพจำลองอนาคต (การทำให้โครงการที่แตกต่างกันมีวิสัยทัศน์ต่อเมืองไปในทิศทางเดียวกันและวิธีการนำไปปฏิบัติให้เกิดผล) ภาพจำลองอนาคตนี้เรียกว่า ภาพจำลองของเมืองแห่งการประสานความร่วมมือ ซึ่งตั้งอยู่บนองค์ประกอบ/ แนวทางปฏิบัติของการออกแบบ 4 ประการด้วยกัน
เมืองแห่งการประสานความร่วมมือ: องค์ประกอบ/แนวทางปฏิบัติ
- การประสานความร่วมมือ: สร้างผลลัพธ์และค่านิยมสังคม
การขับเคลื่อนในทิศทางนี้เป็นการสร้างเมืองด้วยการส่งเสริมการประสานความร่วมมือต่างๆ หมายถึงโครงการที่ดำเนินงานด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างพลเมืองกับพลเมือง ระหว่างพลเมืองกับผู้กระทำการทางสังคมต่างๆ (เช่น หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน วิสาหกิจไม่แสวงผลกำไร สมาคม และมหาวิทยาลัย) เป็นโครงการในการประสานความร่วมมือหลากหลายรูปแบบ (ผสมผสานการประสานความร่วมมือทั้งแนวนอนและแนวตั้ง), มีพลังผลักดันที่แตกต่างกัน (ผสานที่งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม) และตำแหน่งที่แตกต่างกันบนเส้นทางแห่งนวัตกรรม (จากความคิดเริ่มต้นถึงรูปแบบที่ปฏิบัติกันเป็นปกติ)
การประสานความร่วมมือ (เช่น การสร้างผลลัพธ์ที่นำไปปฏิบัติได้จริงและสร้างค่านิยมทางสังคมในเวลาเดียวกัน) ทำให้เกิดรูปแบบทางเศรษฐกิจและองค์กรอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และด้วยเหตุผลเดียวกันการประสานความร่วมมือเป็นยุทธศาสตร์ที่สร้างพลังให้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบและสร้างค่านิยมรวมทางสังคม
- การเชื่อมโยง: เชื่อมต่อความหลากหลาย
การขับเคลื่อนในทิศทางนี้หมายถึงการบ่มเพาะและเชื่อมต่อความหลากหลาย ได้แก่ การพัฒนาโครงการต่างๆ ที่สามารถเชื่อมผู้สูงอายุกับคนหนุ่มสาวเข้าด้วยกัน เชื่อมคนท้องถิ่นเข้ากับผู้อพยพ คนรวยกับคนจน และสามารถบูรณาการที่ทำงานกับที่อยู่อาศัยเข้าด้วยกัน (เช่น ที่พักอาศัย โรงเรียน สำนักงาน โรงงานและห้องปฏิบัติการ การทำเกษตรและการทำสวน การพาณิชย์ นันทนาการ กีฬา สถานที่ประชุม) สร้างความหลากหลายและกิจกรรมที่มีพลวัตร
การเชื่อมโยง (การเชื่อมต่อความหลากหลาย) คือยาถอนพิษของทิศทางการพัฒนาเมืองที่มุ่งยึดครองที่ดินคนจนมาพัฒนาเพื่อคนรวย, การแบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา และวัฒนธรรม และการสร้างให้เกิดช่องว่างทางการสื่อสาร ในด้านบวกนี่เป็นหนทางพัฒนาความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของเมือง
- การสร้างความเป็นเจ้าของร่วม: เชื่อมร้อยผู้คนและสถานที่ การหยั่งรากร่วมกัน
การเคลื่อนไปในทิศทางนี้หมายถึงการสร้างพื้นที่ที่ชุมชนเป็นผู้ดูแล คือการสร้าง “พื้นที่ที่สาม” ซึ่งอยู่ระหว่างพื้นที่เอกชนกับพื้นที่รัฐ อีกทั้งยังหมายถึงการสร้างความรู้สึกและค่านิยมร่วมทางสังคม เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ความเห็นอกเห็นใจกัน การประสานความร่วมมือและความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีร่วมกัน ทั้งหมดนี้เป็นผลของการฟื้นฟูทั้งแนวทางปฏิบัติเดิมที่สืบทอดกันมา หรืออาจเกิดจากโครงการประสานความร่วมมือใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็ได้
การสร้างความเป็นเจ้าของร่วม (เช่น กระบวนการสร้างพื้นที่ส่วนรวม) คือยาถอนพิษทิศทางการพัฒนาหลักที่มุ่งทำเมืองให้กลายเป็นสินค้าและตลาด โดยคำนึงถึงธรรมชาติหรือลักษณะที่แตกต่างกันของพื้นที่ส่วนร่วมและกระบวนการสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน
- การทำให้เป็นประชาธิปไตย: สนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างมีพลัง
การเคลื่อนสู่ทิศทางการพัฒนาโครงการที่มีประชาธิปไตยเป็นศูนย์กลาง ได้แก่สภาพแวดล้อมที่บุคคลและชุมชนสามารถพัฒนาโครงการต่างๆ ในชีวิตของตนเองไปสู่ระดับที่ดี คือการทำให้ระบบนิเวศเอื้ออำนวยต่อระบบนิเวศแห่งประชาธิปไตยที่พลเมืองสามารถตัดสินใจและทำให้มันเกิดขึ้นจริงได้
การทำให้เป็นประชาธิปไตย (เช่น การะบวนการพัฒนาระบบนิเวศแห่งการมีส่วนร่วม) คือยาถอนพิษวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (และประชาธิปไตยในความหมายกว้าง) ซึ่งให้นัยยะของการเคลื่อนย้ายอำนาจไปสู่มือของพลเมืองและชุมชน
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ/ แบบฝึกหัดการออกแบบ
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ทั่วไป: เพื่อศึกษาธรรมชาติหรือลักษณะรวมทั้งความเป็นไปได้ของโครงการนวัตกรรมสังคมในรูปแบบใหม่ที่กำลังดำเนินการ เพื่อนำสู่การอภิปรายแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เกี่ยวกับบทบาทของโครงการต่างๆ ในการสร้างให้ภาพจำลองของเมืองแห่งการประสานความร่วมมือ
วัตถุประสงค์เฉพาะ: เพื่อแลกเปลี่ยนและสื่อสารเกี่ยวกับลักษณะหรือธรรมชาติของการสร้างเมืองและกรอบการประสานความร่วมมือ
* ของโครงการริเริ่มระดับท้องถิ่นที่กำลังดำเนินการอยู่
*กรอบการประสานความร่วมมือของโครงการ (โครงการหรือกิจกรรมที่มีอยู่แล้ว) เกิดจากตำแหน่งของความสัมพันธ์ของโครงการต่อองค์ประกอบ 4 ประการ ที่ปรากฏใน “สมมติฐานโครงการ” ที่กล่าวไว้กอ่นหน้านี้)
สรุป
เป็นการพิจารณาโครงการนวัตกรรมสังคมที่กำลังดำเนินงานอยู่ เช่น โครงการสร้างเมืองแห่งนวัตกรรมที่มีความหมายทางสังคม เราจะอภิปรายกันถึงกรอบการประสานความร่วมมือ และข้อเสนอเพื่อการปรับปรุง
ระเบียบวิธี
(กิจกรรมก่อนเริ่มกระบวนการ) ทีมงานคัดเลือกตัวอย่างของโครงการสร้างเมืองที่มีนัยสำคัญ 8 โครงการ (ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง) และเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ
กิจกรรมที่ 1: นำเสนอโครงการที่ได้รับเลือกมาทั้งหมด (กลุ่มละ 1 โครงการ) โดยให้แต่ละกลุ่มแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับโครงการที่เลือกมากลุ่มละ 1 โครงการ โดยใช้องค์ประกอบในการประเมินและการปรับทิศทางทั้ง 4 ประการที่กล่าวมาข้างต้น แล้วให้ทุกกลุ่มนำเสนอผลการอภิปรายของกลุ่มตนเองให้กลุ่มอื่นฟัง [เป็นโครงการหลักของกลุ่มตนเองในกระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม]
กิจกรรมที่ 2: จากการแลกเปลี่ยนความเห็นในกิจกรรมที่ 1 ให้แต่ละกลุ่มคิดและพัฒนาวิธีการปรับปรุงบทบาทโครงการของกลุ่มตนเองในการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเมืองแห่งการประสานความร่วมมือหนึ่งวิธี (หรือมากกว่า) แล้วให้แต่ละกลุ่มนำเสนอความคิดของตนเอง ให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเปรียบเทียบข้อเสนอที่แตกต่างกันและเปิดให้มีการอภิปรายในวงกว้าง
ผล/การนำเสนอในเวทีใหญ่/ การรายงานผล
กิจกรรมที่ 1: โครงการที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังดำเนินการ
เนื้อหา แยกเป็น 2 ส่วน:
– การนำเสนอโครงการตัวอย่าง (100-150 คำ): ชื่อ, สถานที่ และคำบรรยายสั้นๆ เกี่ยวกับแรงผลักดันและผลที่คาดหวัง ผู้ร่วมดำเนินโครงการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง (+ เชื่อมโยงสู่เวบไซต์ที่เกี่ยวข้อง หากมี)
– การอภิปรายโครงการตัวอย่าง (100-150 คำ โดยใช้องค์ประกอบในกระประเมินและการปรับทิศทางทั้ง 4 ประการ เขียนอภิปรายสั้นๆ เกี่ยวกับกรอบการประสานความร่วมมือของโครงการ
วิธีการนำเสนอ: ภาพ 1 ภาพ + ชื่อหัวข้อและข้อเสนอ (น้อยกว่า 10 คำ) + คำอธิบายสั้นๆ 1 ย่อหน้า (น้อยกว่า 40 คำ) (นำเสนอในรูปของพาวเวอร์พอยท์)
กิจกรรมที่ 2: ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงโครงการ
เนื้อหา
การนำเสนอแนวคิด (100-150 คำ): ชื่อและแนวคิดที่นำเสนอ ชื่อโครงการที่เกี่ยวข้อง องค์ประกอบหลักที่เลือกมาปรับปรุงโครงการ คำอธิบายสั้นๆ เกี่ยวกับแรงขับและผลที่คาดหวัง (นำเสนอในรูปของเวิร์ด)
วิธีการนำเสนอ:
ภาพ 1 ภาพ +หัวข้อและข้อเสนอ (น้อยกว่า 10 คำ) + คำอธิบายสั้นๆ 1 ย่อหน้า (น้อยกว่า 40 คำ) (นำเสนอในรูปของพาวเวอร์พอยท์)
กำหนดการ วันที่ 7 พย. 2561
9:30 บรรยาย 1 (เอซิโอ มานซินี่) เมืองแห่งการประสานความร่วมมือและนวัตกรรมสังคม: ภาพจำลองเมืองแห่งการประสานความร่วมมือ
10:40 กิจกรรมที่ 1 – นำเสนอโครงการที่คัดเลือก: สมาชิกในทีมนำเสนอโครงการนวัตกรรมสังคมเมืองที่คัดเลือกมาทั้ง 8 โครงการอย่างสั้นๆ
11:20 กิจกรรมที่ 1 – แนะนำกิจกรรม แนะนำกิจกรรมที่ 1
11:30 กิจกรรมที่ 1 กิจกรรมกลุ่ม (กลุ่มละ 8-10 คน) ให้แต่ละกลุ่มอภิปราย แลกเปลี่ยนความเห็นกันต่อโครงการที่ได้ฟัง กลุ่มละ 1 โครงการ โดยใช้องค์ประกอบเมืองประสานความร่วมมือเป็นกรอบในการอภิปราย
12:30 พักกลางวัน
13:30 กิจกรรมที่ 1 – นำเสนอ 1: แต่ละกลุ่มนำเสนอผลการอภิปรายของกลุ่มตนเองรวมถึงข้อเสนอเพื่อการปรับปรุงโครงการให้ที่ประชุมใหญ่ฟัง (ใช้โครงสร้างการนำเสนอตามระบุข้างต้น) (8 กลุ่ม กลุ่มละ 10 นาที + แลกเปลี่ยนความเห็น)
15:10 กิจกรรมกลุ่ม: แต่ละกลุ่มปรับปรุงผลการอภิปรายของตนเองอีกครั้งแล้วร่างผลของกิจกรรมที่ 1
16:00 บรรยาย 2 (เอซิโอ มานซินี่) เมืองแห่งการประสานความร่วมมือและการออกแบบ: ภาพจำลองของเมืองแห่งการประสานความร่วมมือ
วันที่ 8 พย. 2561
9:00 กิจกรรมที่ 2 – แนะนำกิจกรรม แนะนำกิจกรรมที่ 2
9:20 กิจกรรมที่ 2 – กิจกรรมกลุ่ม: แต่ละกลุ่มใช้องค์ประกอบและแนวทางการปฏิบัติเพื่อการสร้างเมือง หาวิธีปรับปรุงแนวคิดของโครงการที่กลุ่มตัวเองได้รับมอบหมายในวันที่ 1
11:40 กิจกรรมที่ 2 – กิจกรรมกลุ่ม: แต่ละกลุ่มทำกิจกรรมต่อไปโดยใช้แนวทางปฏิบัติ ที่แนะนำปรับปรุงแนวคิดของโครงการที่กลุ่มตัวเองได้รับมอบหมายในวันที่ 1
12:30 พักกลางวัน
13:30 กิจกรรมที่ 2 – กิจกรรมกลุ่ม: แต่ละกลุ่มเตรียมนำเสนอผลของกิจกรรมที่ 2 (หากจำเป็นให้ปรับปรุงผลของกิจกรรมที่ 1)
15:00 กิจกรรมที่ 2 – การนำเสนอ 2: แต่ละกลุ่มนำเสนอแนวคิดในการปรับปรุงโครงการและข้อเสนอที่เป็นไปได้เพื่อสนับสนุนภาพจำลองของเมืองแห่งการประสานความร่วมมือ
(ใช้โครงการสร้างการนำเสนอตามระบุข้างต้น) (8 กลุ่ม กลุ่มละ 10 นาที+ แลกเปลี่ยนความเห็น 20 นาที)
16:40 กล่าวปิดงาน (เอซิโอ มานซินี่)